วช.สนับสนุนนักวิจัย มก. พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นและการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดชัยภูมิ ช่วยอนุรักษ์น้ำบาดาลให้มีใช้อย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหลายจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค อย่างเช่น จังหวัดชัยภูมิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นและการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดชัยภูมิ” ภายใต้แผนงานหลักการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการความมั่นคงของน้ำ ระยะเวลาโครงการ 1 ปี ซึ่งมี รศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นหัวหน้าทีมวิจัย เพื่อศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ในการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินของจังหวัดชัยภูมิ และดำเนินการนำร่องในการจัดสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินในจังหวัดชัยภูมิโดยชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งในการดำเนินการได้พัฒนาเทคนิคการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสำหรับทำระบบเติมน้ำใต้ดินประเภทต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้แบบบูรณาการกันหลายด้าน
รศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาจังหวัดชัยภูมิประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และปัจจุบันมีการใช้น้ำบาดาลระดับลึกเพื่อการเกษตรเป็นจำนวนมากจนขาดสมดุล บางบริเวณมีปัญหาน้ำบาดาลกร่อยและเค็มอันเนื่องมาจากลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ จึงมีการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การดำเนินการที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินในระยะยาว
ทีมวิจัยจึงจัดทำโครงการ “การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นและการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดชัยภูมิ” ขึ้น เพื่อพัฒนาเทคนิคในการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินที่ถูกหลักวิชาการ โดยบูรณาการศาสตร์ทั้งการแปลความหมาย ข้อมูลโทรสัมผัส การสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อการสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นจากทางน้ำโบราณที่มีประสิทธิภาพ และจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินที่ถูกหลักวิชาการโดยใช้งบประมาณและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ขณะที่ชุมชนและท้องถิ่นก็มีส่วนร่วมในการรักษาสมดุลของระบบน้ำบาดาล งานวิจัยนี้จึงเป็นโครงการนำร่องเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชนในการจัดทำระบบการเติมน้ำใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผลของการวิจัยมีการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมในการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดิน โดยใช้วิธีการบูรณาการข้อมูลสภาพทางกายภาพของพื้นที่ศึกษาที่มีอยู่เดิม ทั้งข้อมูลสภาพภูมิประเทศ อุทกวิทยา ธรณีวิทยา ข้อมูลชุดดินและธรณีสัณฐานวิทยา เนื่องจากทางโครงการวิจัยจะก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินที่มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นและพื้นที่ทางน้ำโบราณผ่านระบบบ่อวงคอนกรีต ซึ่งการออกแบบระบบต่างๆ จะมีผลต่อประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน
รศ.ดร.ภาสกร กล่าวว่า ผลการศึกษา สามารถกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบได้แก่ 1.ระบบการเติมน้ำใต้ดินแบบบ่อวง หรือ เก็บเกี่ยวน้ำฝนจากหลังคา และ 2. ระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านสระเติมน้ำ โดยผลการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินแบบเก็บเกี่ยวน้ำฝนจากหลังคาลงสู่บ่อวงคอนกรีตในพื้นที่นำร่อง คือ บ้านคลองบอน ตำบลคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ นั้น คณะผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือก 10 พื้นที่ ประกอบไปด้วย ระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อวงคอนกรีตจำนวน 9 บ่อ และระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อวงคอนกรีตแบบเก็บเกี่ยวน้ำฝนจำนวน 1 บ่อ และติดตั้งบ่อสังเกตการณ์จำนวน 15 บ่อบริเวณโดยรอบของระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อวงคอนกรีต เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดินในช่วงการติดตั้งระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อวงคอนกรีต โดยคุณภาพน้ำบาดาลที่ได้นำไปตรวจ พบว่ามีคุณภาพน้ำดีเข้าเกณฑ์กำหนด เหมาะสมใช้จัดเตรียมเป็นน้ำอุปโภคบริโภคได้ หากได้ทำการปรับลดตะกอนขุ่นให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภค และสามารถนำเข้าสู่ชั้นน้ำใต้ดินได้
ส่วนผลการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านสระเติมน้ำได้เลือกพื้นที่นำร่องที่บ้านหนองช้างเอก ตำบลหนองขาม อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีบ่อบาดาลของเกษตรกรจำนวนมากอยู่รายล้อมพื้นที่ระบบเติมน้ำใต้ดินที่คาดหวังว่าจะช่วยทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำบาดาลที่เพิ่มมากขึ้น และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนและประชาชนในพื้นที่อย่างดี ซึ่งดำเนินการติดตั้งบ่อสังเกตการณ์จำนวน 15 บ่อ บริเวณโดยรอบของระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านสระเติมน้ำ เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดินในช่วงเติมน้ำใต้ดินผ่านสระ และติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติจำนวน 1 สถานี เพื่อติดตามปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศอื่นๆ หลังจากนำน้ำบาดาลที่ได้ไปตรวจพบว่า มีคุณภาพน้ำดี ผ่านเกณฑ์กำหนด เหมาะสมที่จะนำสู่ชั้นน้ำใต้ดิน และจัดเตรียมเป็นน้ำอุปโภคบริโภคได้เช่นกัน
ดังนั้น งานวิจัยนี้สามารถพัฒนาเทคนิคและออกแบบระบบการเติมน้ำที่เหมาะสม และพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งชุมชนสามารถดำเนินการได้เองในอนาคต ตลอดจนมีส่วนเพิ่มปริมาณน้ำบาดาลและแหล่งน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดชัยภูมิที่เข้าดำเนินโครงการ
ในอนาคตทีมวิจัยจะดำเนินการติดตามประสิทธิภาพและคุณภาพของระบบเติมน้ำใต้ดิน ทั้งประสิทธิภาพของระบบ ปริมาณน้ำที่ได้ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นวิธีการต้นแบบในการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชนในการนำไปขยายผลจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดชัยภูมิ ส่งผลให้การจัดการน้ำบาดาลมีประสิทธิภาพและยังช่วยอนุรักษ์น้ำบาดาลให้มีใช้อย่างยั่งยืน